ถอดความสำเร็จ “ปาป้า-ทูทู่” คาแรคเตอร์ไทยที่ไม่ใช่แค่ตัวแทนจังหวัด แต่กำลังพลิกโฉมแม่กลอง

แชร์

ปาป้า-ทูทู่ PLA.PLA TOO.TOO หนึ่งในคาแรคเตอร์โดยครีเอทีฟไทยรุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดจาก โครงการ CHANGE : Visual Character Arts และสามารถเปลี่ยนภาพงานเทศกาลประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ให้เป็นเทศกาลที่ไม่ว่าคนจังหวัดไหนก็อยากมาเพียงเพราะอยากมาเจอ ปาป้า-ทูทู่ และผองเพื่อน

Focus

  • ปาป้า-ทูทู่ PLA.PLA TOO.TOO เป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์โดยครีเอทีฟไทยรุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดจาก โครงการสร้างรายได้และต่อยอดธุรกิจจากการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค CHANGE : Visual Character Arts
  • ปาป้า-ทูทู่ ต่อยอดงานดีไซน์จากเวที CEA มาสู่มาสคอตเทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566
  • ปาป้า-ทูทู่ สามารถเปลี่ยนภาพงานเทศกาลประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ให้เป็นเทศกาลที่ไม่ว่าคนจังหวัดไหนก็อยากมาเพียงเพราะอยากมาเจอ ปาป้า-ทูทู่ และผองเพื่อน

“สวัสดี…เราชื่อปาป้า มาจากดาว MAC-MAC KE-KE REL-REL นี่คือคู่หูของเรา ทูทู่ พวกเรากำลังอยู่ที่สมุทรสงคราม จังหวัดที่มีหน้าตาคล้ายพ่อของผม และมีเมืองแม่กลองเป็นเมืองที่เราหลงรัก”

หลังจาก “เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566” จบลง โลกโซเชียลก็เต็มไปด้วยภาพคาแรคเตอร์ “ปาป้า” ปลาทูอ้วนป้อมตัวสีฟ้าหน้างอคอหัก มาพร้อม “ทูทู่” คู่หูหุ่นยนต์ที่ถอดแบบมาจากกลองในตราประจำจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเจ้าคาแรคเตอร์นี้มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ปาป้า-ทูทู่ (PLA.PLA TOO.TOO) เป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์โดยครีเอทีฟไทยรุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดจาก โครงการสร้างรายได้และต่อยอดธุรกิจจากการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค CHANGE : Visual Character Arts จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และแม้โครงการนี้ได้ทำการเฟ้นหาครีเอทีฟรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2564 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปาป้า-ทูทู่ คือตัวอย่างความสำเร็จที่ชัดเจนทั้งในแง่การสร้างกระแสไวรัลปลุกความคึกคักให้วงการคาแรคเตอร์ไทย และในแง่ของการนำคาแรคเตอร์มาปรับโฉมเมือง เปลี่ยนแบรนด์ดิ้งเทศกาลกินปลาทูฯ ให้เป็นมากกว่างานประจำปีของจังหวัด แต่กลายเป็นงานที่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เองก็ตั้งตารอที่จะปักหมุดในปีถัดๆ ไป Sarakadee Lite ชวนไปพูดคุยกับลูกหลานชาวแม่กลอง วิน-ภัทรพงศ์ ชูสุทธิสกุล และ เต-ตชสิทธิ์ ยศวิปาน ผู้ปลุกปั้น ปาป้า-ทูทู่ ตั้งแต่มีผู้รู้จักเป็นศูนย์ จนกลายมาเป็นมาสคอตประจำเมืองแม่กลองในปัจจุบัน

ปาป้า-ทูทู่ PLA.PLA TOO.TOOปาป้า-ทูทู่ PLA.PLA TOO.TOO

“ปี 2021 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ปาป้า-ทูทู่ มาจากการเข้าร่วม โครงการ Change 2021: Visual Character Arts การพัฒนาและสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ที่ตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ที่สื่อสารอัตลักษณ์ ของ CEA ร่วมออกแบบคาแรคเตอร์ที่สื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผมเองทำงานคาแรคเตอร์มาก่อนก็เลยอยากจะลองส่งประกวดบ้าง แต่สิ่งแรกที่เรานึกถึงกลับเป็น ปลาทู อาจจะเพราะผมเป็นคนแม่กลอง แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปจะเห็นชัดว่าปลาทูมันไม่ได้ผูกพันแค่กับคนแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ปลาทูคือวิถีการกินของคนไทย เด็กแทบทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนต้องได้กินปลาทู ปลาทูเป็นเหมือนอาหารที่ต้องมีติดครัว เป็นอาหารประจำบ้าน คนไทยรู้ว่าปลาทูที่อร่อยต้องหน้างอคอหัก ผมเลยมั่นใจว่าเรื่องราวของปลาทูจะสามารถสื่อสารอัตลักษณ์ไทยได้”

ปาป้า-ทูทู่ PLA.PLA TOO.TOO

วิน เริ่มต้นย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ปาป้า-ทูทู่” บนเวที CHANGE : Visual Character Arts ซึ่งในการประกวดครั้งนั้นมีการอบรมที่มากกว่าเรื่องการออกแบบ แต่เป็นเวทีที่ใส่เรื่องการสร้างแบรนด์ ลิขสิทธิ์ และต่อยอดคาแรคเตอร์สู่สินค้าและการสร้างรายได้ เมื่อจบโครงการสิ่งที่ครีเอทีฟแต่ละคนจะได้รับคือสินค้าที่ผลิตออกมาจริงและการเปิดตลาดทดลองขายจริง

ปาป้า-ทูทู่ PLA.PLA TOO.TOO

“สิ่งที่ทาง CEA เน้นจะเป็นเรื่องโมเดลธุรกิจที่จะเป็นไกด์ไลน์ให้เรานำมาต่อยอด ไม่ใช่ทำคาแรคเตอร์แล้วจบ ซึ่งเราก็ได้ไปออกบูทกับทาง CEA อยู่บ้าง เริ่มจากพวกสติ๊กเกอร์ มาจับสินค้าจากแม่กลอง เช่น น้ำมะพร้าว ข้าวเกรียบปลาทูมาขายแล้วใส่แบรนด์คาแรคเตอร์ลงไปบ้าง แต่ก็พบปัญหาว่าแบรนด์เรายังไม่แข็งแรงพอ คนยังไม่รู้จัก ปาป้า-ทูทู่ ก็เลยคิดว่าเราต้องสร้างแบรนด์ สร้างสตอรี่ให้แข็งแรงควบคู่ไปด้วย ในส่วนนี้ก็ได้เตที่จบมาด้านการตลาด ถนัดเรื่องนี้เข้ามาช่วย และเตก็เป็นเพื่อนที่อยู่แม่กลองอยู่แล้ว ชอบถ่ายรูปแม่กลอง ก็เลยต่อยอดมาเป็นเอาปาป้า-ทูทู่ พาทัวร์แม่กลอง พาไปรู้จักคนแม่กลอง ก็เริ่มทำให้คนรู้จักคาแรคเตอร์นี้มากขึ้น”

ปาป้า-ทูทู่

นอกจากความน่ารักของคาแรคเตอร์แล้ว เตเสริมว่าการเปิดใจของคนในพื้นที่เองก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้คาแรคเตอร์เติบโต เช่นเดียวกับปาป้า-ทูทู่ ที่เมื่อรู้ว่าเป็นผลงานลูกหลานชาวแม่กลอง และเป็นคาแรคเตอร์แม่กลองก็มีคนอยากสนับสนุน กระทั่งได้มาเข้าตากลุ่ม YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาเมืองเช่นกัน งานผลักดัน ปาป้า-ทูทู่  สู่มาสคอตประจำเทศกาลกินปลาทูฯ จึงเกิดขึ้น และก็ไม่ได้ง่ายที่จะทำให้คนทุกกลุ่มเข้าใจเรื่องคาแรคเตอร์

“ที่ผ่านมางานคาแรคเตอร์ในไทยมักจะไปผูกกับอีเวนต์ เมื่ออีเวนต์จบคาแรคเตอร์ก็จบไม่ได้ไปต่อ แต่โชคดีที่จังหวัดเราเล็ก ประกอบกับแบรนด์ดิ้งปลาทูเราแข็งแรง คนแม่กลองเขาเปิดใจกับคาแรคเตอร์เพราะเขารู้จักว่านี่คือปลาทูแม่กลอง พอแบรนด์ดิ้งแข็งแรง สื่อสารอะไรก็ง่ายไปหมด คนไทยเชื่อคุณภาพของปลาทูแม่กลองอยู่แล้ว พอเราทำ ปาป้า-ทูทู่ ขึ้นมาคนก็อินต่อได้เลย พี่ๆ YEC เขามองว่า ปาป้า-ทูทู่ ไปต่อได้ เขาก็เลยผลักดันให้คนรุ่นใหม่อย่างพวกเราได้ทำ CI งานปลาทูแม่กลอง และปาป้า-ทูทู่ก็เป็นเหมือนมอสคอตงานไปเลย แต่ ปาป้า-ทูทู่ ไม่ได้มาคนเดียว ยังมาพร้อมแม่กลองเรนเจอร์ที่เป็นคาแรคเตอร์ของดีประจำชุมชน เช่น โคมาจี้ มาจากลิ้นจี่แม่กลอง วิบบี้ ดีไซน์จากหิ่งห้อย หรืออย่าง ลอร์ดออฟแม่กลอง ก็มาจากหอยหลอด ซึ่งคาแรคเตอร์เหล่านี้สามารถต่อยอดได้ในอนาคตเช่นกัน”

เตเล่าถึงการต่อยอดงานดีไซน์จากเวที CEA สู่มาสคอตเทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566 ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่สีสันงานที่ดูสดใสกระปรี้กระเปร่าขึ้น แต่เตยังย้ำว่า ปาป้า-ทูทู่ ยังทำให้เจเนอเรชันของคนที่เข้ามาร่วมงานเด็กลง คาแรคเตอร์หนึ่งคาแรคเตอร์สามารถลดช่องว่างระหว่างวัยของคนที่มาร่วมงานที่ไม่ได้มีแค่รุ่นพ่อแม่อีกต่อไป ที่สำคัญคาแรคเตอร์ยังสามารถเปลี่ยนภาพงานเทศกาลประจำจังหวัด ให้เป็นเทศกาลที่ไม่ว่าคนจังหวัดไหนก็อยากมาเพียงเพราะอยากมาเจอ ปาป้า-ทูทู่ และผองเพื่อน

ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่า ปาป้า-ทูทู่ ถือเป็นความสำเร็จในแง่ผู้สร้างคาแรคเตอร์หรือยัง วินให้ความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่าความสำเร็จของคาแรคเตอร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับผู้คน เมือง และการส่งเสริมให้นำไปใช้ด้วย

“ถ้าพูดถึงความสำเร็จของคาแรคเตอร์ในการพัฒนาเมือง คุมะมง ที่เป็นเหมือนตัวแทนของเมืองคุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นต้นแบบของการนำคาแรคเตอร์ไปใช้ ซึ่งนอกจากความร่วมมือของผู้คนผู้ประกอบการในเมืองแล้ว ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการเข้ามาสนับสนุนเรื่องการนำไปใช้ ดูแลลิขสิทธิ์และการต่อยอด ส่วนของไทยอาจจะยังขาดส่วนนี้ สิ่งที่ศิลปินหรือครีเอทีฟไทยต้องทำคือการสร้างสตอรี แบรนด์ดิ้งเพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ การยอมรับจนเกิดการต่อยอดนำไปใช้ ซึ่งนี่เป็นกำแพงที่ยากที่สุดในสำหรับครีเอทีฟไทย”

และสุดท้ายเมื่อเราถามว่าทั้งวินและเต้เชื่อในเรื่องพลังของคาแรคเตอร์ในการพัฒนาเมืองไหม ทั้งคู่แทบจะตอบตรงกันว่า “ไม่มีข้อโต้แย้ง” โดยเต้บอกว่า เหตุผลเดียวที่ทำให้เขาอยากไปญี่ปุ่นคือ แอนิเมชันวันพีซ ส่วนวินตอบว่าคาแรคเตอร์ไม่ได้แค่สร้างเมืองแต่ยังสามารถสร้างคนหนึ่งคนขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับแรงบันดาลใจจากคาแรคเตอร์และแอนิเมชันที่หล่อหลอมให้เขารักในงานสายครีเอทีฟจนให้กำเนิด “ปาป้า-ทูทู่” คาแรคเตอร์ที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมเมืองแม่กลองให้กลับมาสดใสเป็นเดสติเนชั่นที่ไม่ว่าเจนไหนก็อยากไปปักหมุด

Fact File

  • ติดตาม “ปาป้า-ทูทู่” ได้ที่ FB : plaplatootoo.studio

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1449171/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1449171/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด