ชวนเที่ยว 18 พิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์ ไม่ต้องมีความรู้เรื่องหมอก็สนุกได้

แชร์

ชวนเที่ยว 18 พิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์ ไม่ต้องมีความรู้เรื่องหมอก็สนุกได้

สิ่งหนึ่งที่คน (ที่อาศัยอยู่ใน) กรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้กันก็คือ ภายในอาณาเขตเล็ก ๆ ของเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงานสูง ๆ แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกจริตนักท่องเที่ยวต่างชาติ และห้างสรรพสินค้าจำนวนมากที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ความจริงแล้วมีพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ซ่อนตัวกระจัดกระจายอยู่จำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์เฉพาะด้าน “ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข” พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เชิงลึกทางด้านวิชาการแพทย์ของแต่ละภาควิชา ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้าชมอยู่มากมาย และไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความรู้ทางด้านการแพทย์ก็สามารถเข้าไปชมได้อย่างสนุกสนาน โดยหลายแห่งสามารถเข้าชมได้ฟรี และหลายแห่งก็ต้องเสียค่าเข้าชม แต่บอกเลยว่าราคาไม่ได้สูงมากสำหรับผู้เข้าชมชาวไทย ที่สำคัญยังคุ้มค่ามากที่ได้เข้าไปศึกษาความรู้ด้านการแพทย์ เข้าไปเห็นวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยด้วยตาตัวเอง Tonkit360 จึงได้รวบรวมพิพิธภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ที่น่าสนใจ มาป้ายยาให้ได้ไปเที่ยวกัน

พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน

ใครที่อยากเรียนหมอต้องไม่พลาด เพราะที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงสิ่งแสดงทางกายวิภาคของมนุษย์ ซึ่งแต่ละผลงานนับว่าเป็นผลงานระดับโลกที่หาดูได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นกายวิภาคของอวัยวะ ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย กระดูกและข้อต่อ เส้นประสาททั้งร่างกาย หลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย การเจริญเติบโตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงระยะคลอด หรือแม้แต่ร่างกายมนุษย์ตัดตามขวางตลอดตัว และโครงกระดูกของบุคคลสำคัญในวงการแพทย์

ที่อยู่ ชั้น 3 ตึกกายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน

คนที่ชื่นชอบซีรีส์-ภาพยนตร์พล็อตสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม หรือสารคดีคดีปริศนา อาจถูกใจที่นี่เป็นพิเศษ เพราะที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน แห่งนี้ เป็นแหล่งรวมความรู้ชั้นยอดที่จะทำให้การชมสารคดีและบันเทิงคดีต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจและได้อรรถรสเพิ่มขึ้น เนื่องจากงานนิติเวชศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญมากในการนำวิชาแพทย์และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อหาสาเหตุการตายอย่างผิดธรรมชาติ ที่นี่จัดแสดงเกี่ยวกับนิติพยาธิวิทยา ชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ตายด้วยโรคตามธรรมชาติ และตายโดยผิดธรรมชาติ เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ การจัดแสดงยาเสพติดชนิดต่าง ๆ วัตถุพยานหลักฐานจากศพจากคดีต่าง ๆ กะโหลกศีรษะที่ได้จากการทดลองยิงเพื่อศึกษาทิศทางบาดแผล รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการชันสูตรพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 8

ที่อยู่ ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10701

วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส

พยาธิวิทยา (อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-วิด-ทะ-ยา) เป็นศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยโรคจากอวัยวะเนื้อเยื่อ เซลล์ และสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ พยาธิแพทย์จึงเป็นแพทย์วินิจฉัยโรค ไม่ใช่แพทย์รักษาผู้ป่วยโดยตรง ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติพยาธิวิทยาในประเทศไทย ห้องจำลองการปฏิบัติงานทางพยาธิวิทยาที่ตึกเสาวภาคย์ แสดงระบบการทำงานของหัวใจปกติและโรคหัวใจ พัฒนาการและความพิการแต่กำเนิดของทารกและโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในชายและหญิง พร้อมแนวทางการรักษาและป้องกัน โดยจัดแสดงด้วยสิ่งแสดงจริงพร้อมหุ่นจำลองประกอบ

ที่อยู่ ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10701

วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา

ปรสิตวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตซึ่งทำให้เกิดโรคกับคน หรือเป็นตัวนำโรคมาสู่คน และศึกษาเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์หลายชนิดด้วยกันในภาวะปรสิต (ฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์จากการเป็นโฮสต์ ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการไปอาศัยอยู่กับโฮสต์ เป็นเหตุที่ทำให้โฮสต์อ่อนแอและเกิดโรคในโฮสต์) ปรสิตวิทยาจึงจัดว่าเป็นวิชาที่สำคัญมากวิชาหนึ่งในการศึกษาแพทยศาสตร์ ที่นี่จึงจัดแสดงเกี่ยวกับพยาธิจากผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน โปรโตซัวทางการแพทย์ แมลงนำโรคและสัตว์มีพิษชนิดต่าง ๆ

ที่อยู่ ชั้น 2 ตึกอดุลยเดชวิกรม โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10701

วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารเเละวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบก

เป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์สายแพทย์ทหาร ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งในพระที่นั่งภายในพระราชวังพญาไท ด้านหน้าห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ มีอนุสาวรีย์อนุรักษ์กำลังรบ ซึ่งเป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดเท่าคนจริง แสดงถึงวีรกรรมและภารกิจหลักของเหล่าทหารแพทย์ ส่วนการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกเกี่ยวกับประวัติกรมการแพทย์ทหารบก ห้องต่อมา นำเสนอภารกิจและวีรกรรมเหล่าทหารแพทย์ และห้องสุดท้าย จัดแสดงเกี่ยวกับการลำเลียงผู้ป่วยบาดเจ็บและอุปกรณ์การแพทย์ในอดีต

ที่อยู่ กรมการแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถ.ราชวิถี พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

วันและเวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.30-14.30 น. ปิดวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร เดิมใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เครื่องยาไทยและประวัติเภสัชกรรมไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาหาความรู้ของผู้เรียนและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสมุนไพร ภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างสมุนไพรทั้งของไทยและต่างประเทศ รูปเคารพ ตำรายา เครื่องมือในการผลิตยาสมัยโบราณ รวมไปถึงข้อมูลวิวัฒนาการในการผลิตและการใช้ยาของไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับยาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

ที่อยู่ ชั้น 3 อาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

วันและเวลาทำการ เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. เว้นวันหยุดราชการ (หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์)

พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย

พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย จัดตั้งขึ้นโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติการแพทย์แผนไทยจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงเรื่องราวตามหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ต้นกำเนิดวิชาชีพเภสัชกรรม วิวัฒนาการเภสัชกรรมแผนตะวันออกและภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิวัฒนาการเภสัชกรรมไทยแผนตะวันตก วิวัฒนาการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ประวัติการศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย วิวัฒนาการวิชาชีพและบทบาทของเภสัชกร รวมถึงกำเนิดและบทบาทของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ ชั้น 3 อาคารเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขที่ 40 ซ.สันติสุข (สุขุมวิท 38) เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10110

วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์-ศุกร์ 10.00-16.00 น.

พิพิธภัณฑ์กุมารศัลยศาสตร์

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาด้วยตนเองในด้านศัลยศาสตร์และกุมารศัลยศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์สำหรับแสดงประวัติความเป็นมาในด้านกุมารศัลยศาสตร์ แบ่งจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จัดแสดงตัวอย่างพร้อมการบรรยายในเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ การตรวจโรค การวินิจฉัยโรคในระดับต้น และระดับใช้กล้องจุลทรรศน์ และส่วนที่สอง เป็นการรักษาโรค สถานที่สำหรับจัดแสดงอุปกรณ์ด้านการวิสัญญี โคมไฟ และเครื่องมือสำหรับการผ่าตัด เตียงผ่าตัด ซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี ก่อนถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่

ที่อยู่ ชั้น 7 ตึก สก. ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 9.00-15.30 น. (ผู้สนใจเข้าชม กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า)

พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นระลึกถึงหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคนแรกและผู้ก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาบันแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนด้านการรักษาฟัน ช่องปาก ใบหน้า ในโอกาสแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525  ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมสิ่งอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการด้านทันตกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เครื่องมือเครื่องใช้ทางทันตกรรมตั้งแต่สมัยอดีต ลักษณะฟันของคนไทย รวมถึงอุปกรณ์โบราณหายากที่เก็บมาจากคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่คลินิก อาคาร 5 ถนนราชดำเนิน โรงพยาบาลตำรวจ และสถานประกอบการรุ่นแรกของเมืองไทยบริเวณถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายวัสดุทันตกรรมและรักษาผู้ป่วยโดยทันตแพทย์ชาวจีนรุ่นแรก ๆ

ที่อยู่ ชั้น 1 อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

วันและเวลาทำการ เปิดวันพุธและวันศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. (ผู้สนใจเข้าชม กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า)

พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living museum) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดสากล ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายในมีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 7 ส่วน คือ “สถาปนาสันติธรรม” จัดแสดงประวัติความเป็นมาของคณะกรรมการกาชาดสากลและสภากาชาดไทย “บูรณาการสถานศึกษา” ภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล “โอสถบริรักษ์” ภารกิจในการผลิตเซรุ่มและวัคซีน เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ “อภิบาลดรุณ” ข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “บุญเกษม” ภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ “บำเพ็ญคุณากร” ภารกิจในการบรรเทาทุกข์โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และ “อมรสาธุการ” นำเสนอยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย รวมทั้งของที่ระลึกต่าง ๆ ที่มอบให้ผู้มีอุปการคุณ

ที่อยู่ สภากาชาดไทย ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

วันและเวลาทำการ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.00 น.

พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทยแห่งแรกในประเทศไทย ที่รวบรวมประวัติการพยาบาลไทยตั้งแต่เริ่มก่อเกิดวิชาชีพการพยาบาลไทย และพัฒนาการของวิชาชีพในด้านต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์ของเนื้อหาและการจัดแสดงที่ทันสมัยผ่านเทคนิคหลายรูปแบบ เช่น บอร์ดนิทรรศการ วีดิทัศน์ ฉากจำลอง และเทคนิคแบบ Sequence ที่เล่าเรื่องด้วยแสงและเสียง นอกจากนี้ยังมี “ฐานข้อมูลจดหมายเหตุทางการพยาบาล” เพื่อให้บริการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการพยาบาลของประเทศไทย สำหรับผู้ที่สนใจหรือค้นคว้าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล

ที่อยู่ ชั้น 4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ใกล้ท่าน้ำวังหลัง) โรงพยาบาลศิริราช ถ.พรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

วันและเวลาทำการ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-15.30 น. (กรุณานัดหมายล่วงหน้า)

พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย

พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจงานแพทย์แผนไทยและภูมิใจในภูมิปัญญาไทย โดยมีหัวใจสำคัญคือการนำเสนอแก่นแท้ของภูมิปัญญา ปรัชญาการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยเพื่อให้คนเห็นเรียนรู้เข้าใจเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทย 9 หลัง โดยรอบอาคารแวดล้อมด้วยสวนสมุนไพร บางต้นเป็น “ต้นไม้พูดได้” ที่ผู้สนใจสามารถกดปุ่มเพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ได้

ที่อยู่ สถาบันการแพทย์แผนไทย ภายในกระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

วันและเวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม)

พิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัย

ตั้งอยู่ภายในกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี เพื่อต้องการให้ตระหนักถึงความสำคัญของถุงยางอนามัย ที่มีประโยชน์ในการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก จัดแสดงถุงยางอนามัยแบบต่าง ๆ จากหลากยี่ห้อที่ขายในประเทศ นำเข้า และส่งออกมากกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ถุงยางอนามัยยุคแรกที่คนไทยรู้จักในนามถุงยางอนามัยมีชัยสายรุ้ง รวบรวมวิวัฒนาการ การพัฒนาคุณภาพ ตั้งแต่รูปลักษณ์ สีสัน การแต่งกลิ่น รูปแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัย ด้วยเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีที่แม่นยำ น่าเชื่อถือ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมข้อมูลสถิติ ผลการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัย ให้คำแนะนำวิธีเลือกซื้อ การเลือกขนาดที่เหมาะสม วิธีใช้ที่ถูกต้อง รวมถึงการเลือกใช้สารหล่อลื่นเพิ่มเติม

ที่อยู่ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ (อาคาร 9 ชั้น 8) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 88/7 บำราศนราดูร ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม)

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เริ่มต้นจากการบริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ ของคัทสุมิ คาตามูระ จากการแนะนำของศาสตราจารย์คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว ในปี พ.ศ.2554 โดยลงนามในสัญญาบริจาคกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์นี้เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยการใช้พลาสติกเหลวแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อ ทำให้ไม่เน่าสลาย และสามารถคงสภาพได้นาน โดยจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์แบบ 3 มิติ

ที่อยู่ ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์ เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม. 10330

วันและเวลาทำการ เปิดจันทร์ เวลา 10.00-16.00 น., พุธ เวลา 09.30-12.00 น. และศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น.

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

เป็นพิพิธภัณฑ์จัดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นำเสนอเรื่องราวที่ทรงคุณค่ายิ่ง ทั้งทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย-วังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างทางรถไฟสายใต้และวิถีชุมชนบางกอกน้อย นอกจากนั้นยังแสดงถึงกำเนิดแห่งโรงพยาบาลศิริราชและโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ประวัติการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ณ “ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์” ที่นำเสนอจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลศิริราช “โซนจำลองการผ่าตัด” ร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่าตัดในห้องผ่าตัด “ห้องสยามรัฐเวชศาสตร์” รู้จักการแพทย์แผนไทย ศาสตร์อันลึกซึ้งที่ไม่ลึกลับ เรียนรู้ได้ เข้าใจได้ และยังช่วยให้ดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี “ร้านโอสถวัฒนา” รวบรวมสมุนไพรไทยหลายร้อยชนิดในร้านขายยาโบราณ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์หลากหลายพัฒนามาเป็นการผลิตยาด้วยเทคนิคที่ทันสมัย “พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์” จุดกำเนิดของวงการศัลยศาสตร์ไทย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี

ที่อยู่ สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช อาคารอนุรักษ์ สถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เลขที่ 2 ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน

แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบันและคลินิกเอกชนรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย บนถนนเจริญกรุง รวมถึงที่มาของคำว่า เบอร์ลิน (Berlin) ซึ่งเป็นชื่อของอาจารย์ชาวเยอรมัน ผู้ประสาทวิชาด้านแพทยศาสตร์ให้กับนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ และนำมาตั้งเป็นชื่อคลินิกเอกชนรักษาผู้ป่วย ด้วยชื่อว่า ห้างขายยาเบอร์ลิน (Berlin Dispensary) ในพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน จึงนำเสนอเรื่องราวตามลำดับเวลาตั้งแต่ต้นตระกูลและประวัติของนายแพทย์ชัย ไชยนุวัติ การก่อตั้งห้างขายยาจากคลินิกสู่บริษัทผลิตยา จนเป็นบริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอล อินดัสตรี้ จำกัด

ที่อยู่ 359 ถ.เจริญกรุง (แยกเสือป่าตัดกับถนนเจริญกรุง) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

วันและเวลาทำการ เปิดวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.

พิพิธภัณฑ์สมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

หน่วยงานในสังกัดสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นแหล่งศึกษา วิจัย สํารวจ รวบรวมตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ในตํารับยาแผนไทย สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาสามัญประจําบ้าน สมุนไพรหายากใกล้สูญพันธุ์ ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยจัดเก็บในรูปแบบตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ดอง และตัวอย่างเครื่องยา ตามรูปแบบพิพิธภัณฑ์พืชสากล จัดทํามาตรฐานและพิสูจน์เอกลักษณ์สมุนไพรด้วยวิธีการทางอนุกรมวิธานพืช กายวิภาคศาสตร์ พฤกษเคมี และชีวโมเลกุลของพืช เพื่อรองรับการอ้างอิงมาตรฐานสมุนไพรเพื่อการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ

ที่อยู่ สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เลขที่ 693 อาคารสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย ถนนบำรุงเมือง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

วันและเวลาทำการ เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.

พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช

ตลอดเวลาร้อยกว่าปีที่ ศัลยศาสตร์ศิริราช เป็นศูนย์รวมหมอผ่าตัดระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รับรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนมาก เพาะบ่มศัลยแพทย์มามากกว่า 1,000 คน ทำให้ศัลยศาสตร์ศิริราชประกอบด้วยสาขาวิชามากที่สุดถึง 10 สาขา ที่พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราชแห่งนี้ จึงจัดแสดงเรื่องราวของศัลยศาสตร์ศิริราช ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ศัลยศาสตร์ในประเทศไทย สู่ยุคเทคโนโลยีขั้นสูง รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการผ่าตัดด้านต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์วงการศัลยกรรมไทย ประวัติศาสตร์ของชุดผ่าตัด เครื่องมือและองค์ประกอบพื้นฐานของการผ่าตัด ภายในพิพิธภัณฑ์รวม สิ่งแสดงที่น่าสนใจกว่า 100 รายการ

ที่อยู่ อาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

วันและเวลาทำการ จันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.sanook.com/travel/1448739/
ขอขอบคุณ : https://www.sanook.com/travel/1448739/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง



บัตรกดเงินสด ซิตี้ เรดดี้เครดิต

บัตรเครดิต ซิตี้ ลาซาด้า

บัตรเครดิตซิตี้ แกร็บ

บัตรเครดิต ซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม

บัตรเครดิต ซิตี้ รีวอร์ด